“คลังเอเปค”แนะควรให้ความสำคัญภาคเอกชนลงทุน-ส่งเสริม Green Bond-หนุน ศก.ดิจิทัล

ข่าวล่าสุด

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ที่ประชุมรมว.คลังเอเปค ครั้งที่ 29 นั้น มีเห็นตรงกันถึงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 66 ว่ามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง แต่สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่ได้เกิดเหมือนกันทุกประเทศ โดยบางประเทศเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ดีกว่าปีนี้ ขณะที่ประเทศไทยเอง คาดว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้ 3-3.5% ส่วนปี 66 คาดว่าจะเติบโตได้ 3.7%

อย่างไรก็ดี ที่ประชุม รมว.คลังเอเปค มีความกังวลร่วมกันใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก มีความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น จากราคาพลังงานและอาหาร และประเด็นที่สอง หนี้สาธารณะของแต่ละประเทศสูงขึ้น เนื่องจากหลายประเทศต่างต้องกู้เงินเพื่อมาช่วยเยียวยาเศรษฐกิจ หลังจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด

“ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะสูงขึ้นนี้ ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่า หลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง จะต้องมีการปฏิรูประบบการจัดเก็บรายได้ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหารายได้ ซึ่งยอมรับว่าอาจส่งผลให้โครงการลงทุนภาครัฐอาจชะลอลง ดังนั้นในอนาคตจึงต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่กับภาครัฐมากขึ้น”

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้มีหารือเรื่องการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากหลายประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ต้องมีการระดมทุนในโครงการหรือธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การออก Green Bond ทั้งนี้เนื่องจากประเทศสมาชิกเอเปค อยากให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะภาระการลงทุนในภาครัฐเรื่องสิ่งแวดล้อมมีมาก ดังนั้นจึงต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย และการลงทุนควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ซึ่งที่ผ่านมาในส่วนของไทยเอง ได้มีการออกพันธบัตรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นำเงินมากใช้ลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รวมทั้งการเยียวยาผลกระทบจากโควิด ซึ่งในอนาคตก็จะมีโครงการต่อไปอีก

นายอาคม กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังเห็นสอดคล้องในเรื่องการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยใช้ประโยชน์ดิจิทัลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของไทยได้มีการนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาภาคการเงินด้วยการใช้ระบบพร้อมเพย์ ซึ่งทำให้ระบบการชำระเงินมีความสะดวกรวดเร็ว และจะมีการเชื่อมโยงระบบการเงินระหว่างประเทศกับประเทศอื่นๆ ในอนาคต