ซีแพนเนล คาดปี’65 อสังหาฯโต 10-15% หลังพบผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อก เผยแผนเตรียมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ เพิ่มความรวดเร็ว-ขยายกำลังผลิตเพิ่ม 5-10% มั่นใจปี’64 รายได้โตตามเป้าไม่ต่ำกว่า 35% พร้อมกุมแบ็กล็อกในมือกว่า 1,192 ล้านบาท
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) หรือ CPANEL เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 10-15% เนื่องจากผู้ประกอบการเร่งระบายสต๊อก และขยายการเติบโตตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในส่วนของกำลังซื้อผู้บริโภคเชื่อว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวในหลายพื้นที่ ส่งผลให้โครงการบ้านยังเป็นที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มดังกล่าวคาดว่าการแข่งขันของผู้ประกอบการจะยิ่งสูงขึ้น
ปัจจุบันบริษัทผลิตแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูป ได้รับงานใหม่จากลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ 7 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 199 ล้านบาท และยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าโครงการประเภทแนวราบ และแนวสูงอีกหลายราย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนเร็ว ๆ นี้
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 220.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.30% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 143.95 กำไรสุทธิ 20.19 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ากำไรสุทธิทั้งปี 2563 ที่มีจำนวน 13.13 ล้านบาท ส่วนไตรมาส 3/64 บริษัทมีรายได้รวม 63.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.80% และมีกำไรสุทธิ 3.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 345.32%
โดยบริษัทมียอดรอรับรู้รายได้ (Backlog) ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 1,192.53 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ตามคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์จากลูกค้าช่วงปี 2564-2566 แบ่งเป็น ช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 2564 จำนวน 186.79 ล้านบาท, ปี 2565 จำนวน 645.43 ล้านบาท และปี 2566 จำนวน 360.31 ล้านบาท
สาเหตุที่ผลประกอบการของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฐานกำไรในปี 2563 อยู่ในระดับต่ำ เพราะลูกค้าของบริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้คำสั่งซื้อของบริษัทลดลง จากนั้นจึงปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปกติในช่วงไตรมาส 4/63 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 3/64 บริษัทมีค่าใช้จ่ายจากการเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 2.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียว โดยหากดูเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับ 6.2 ล้านบาท ถือว่าเติบโตเพิ่มขึ้นจำนวน 7.59 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมติดตั้งเครื่องจักรใหม่ เพื่อรองรับแนวโน้มการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณฟื้นตัวในปีหน้า และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการผลิต สามารถผลิต Precast Concrete ได้รวดเร็วมากขึ้น และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 5-10% โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิต 720,000 ตร.ม./ปี
นายชาคริตกล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่ภาครัฐมีการปลดล็อกมาตรการ LTV เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่งผลให้มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ปรับแผนการลงทุนโครงการใหม่ให้เร็วขึ้น เพื่อรองรับกำลังซื้อผู้บริโภคที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการแข่งขันของผู้ประกอบการในปัจจุบันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดจำนวนแรงงาน บริหารความเสี่ยง ลดเวลาการก่อสร้าง รวมถึงใช้วัสดุที่ทำให้การก่อสร้างเสร็จเร็วมากขึ้น จึงเป็นผลดีต่อบริษัท